Official website, please click www.aclc-asia.com
บทความทักษะการขาย:
นำเสนออย่างไรประทับใจทุกวัฒนธรรม
การนำเสนอให้กับผู้ฟังจากต่างวัฒนธรรม มีกฎเหล็กในการนำเสนอสองข้อคือ หนึ่ง ผู้นำเสนอควรปรับการนำเสนอเข้าหาวัฒนธรรมเจ้าบ้านของผู้ฟัง และสอง ถ้าเราเป็นผู้ขาย ควรปรับเข้าหาวัฒนธรรมของผู้ซื้อ ธุรกิจการค้าข้ามประเทศในปัจจุบัน การนำเสนอที่มีประสิทธิผลอาจเป็นเครื่องมือสำคัญในการโฆษนาสินค้าและบริการของท่าน และโน้มน้าวการตัดสินใจของลูกค้าได้ทันที เทคนิคในการเตรียมการนำเสนอที่จะแบ่งปันวันนี้คือ เทคนิค 3 ส และ 3 ป
ขั้นตอนที่ 1 สืบค้นและ รู้จักผู้ฟังหรือลูกค้าให้ลึกซึ้ง
เราสามารถเริ่มจากการตั้งคำถาม เช่น ผู้ฟังของเราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ทำไมเขาถึงมาฟังเรา อะไรเป็นเรื่องที่ทำให้เขาสนใจเป็นพิเศษ คุณช่วยแก้ปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ได้อย่างไร คุณอยากให้เขาปฏิบัติอย่างไรหลังจากฟังคุณจบแล้ว
วัฒนธรรมของผู้ฟัง เน้นการตรงเวลาเป๊ะมากกว่าการสานสัมพันธภาพ หรือเน้นสัมพันธภาพมากกว่าตรงเวลา ท่านจะได้วางแผนเปิดปิดการนำเสนอ และเผื่อเวลาในการเปิดโอกาสให้ซักถามมากน้อยเหมาะสม
คำพูดใดที่ไม่ควรใช้ เพราะจะเป็นการดูหมิ่นวัฒนธรรมนั้น อีกทั้งการสื่อสารทางภาษากายที่ควรระวังในวัฒนธรรมนั้นคืออะไร เช่น การชี้ การเชิญ การทักทาย การส่งเอกสาร การกล่าวทักทายผู้ฟังเจ้าถิ่นควรเรียนรู้ว่าจะกล่าวทักทายอย่างไร เมื่อปิดการนำเสนอและพูดคุยกัน ควรเตรียมของขวัญไปด้วยหรือไม่ และของขวัญที่ควรหลีกเลี่ยงคืออะไร เช่น ชาวมาเลเซีย ของขวัญที่ไม่ควรนำไปคือ แอลกอฮอล์ มีด กรรไกร ควรใช้มือขวาในการส่งของและรับของ รวมถึงการเชิญ การชกกำปั้นเข้าที่ฝ่ามืออีกข้างหนึ่งเป็นท่าทางที่ไม่สุภาพสำหรับวัฒนธรรมนี้
ขั้นตอนที่ 2 สร้างสัมพันธภาพ ค้นหาความเหมือน
ในความต่าง ย่อมมีความเหมือน เริ่มต้นด้วยการเกริ่นถึงสิ่งที่เราและผู้ฟังมีความคล้ายหรือเหมือนกัน เพื่อเป็นการสร้างมิตรสัมพันธ์เบื้องต้น เช่น ประสบการณ์หรือเป้าหมาย
ขั้นตอนที่ 3 สร้างสรรค์ หัวข้อใหญ่ให้ดึงดูดใจ
หัวข้อที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มผู้ฟัง การตรึงผู้ฟังไว้ได้จนจบ เช่น แทนที่จะใช้ชื่อผลิตภัณฑ์หรือสินค้าของบริษัทเป็นหัวข้อใหญ่ คุณอาจปรับชื่อหัวข้อให้โดนใจกลุ่มผู้ฟัง เช่น “ลดต้นทุนกับบริการ ABC” หรือ “คุณจะรักษาฐานลูกค้าของคุณได้อย่างไร” จากหัวข้อใหญ่ขยายด้วยเนื้อหาสนับสนุน ที่เรียบเรียงเข้าใจง่าย เช่น ระยะสั้น – ระยะกลาง – ระยะยาว แนะนำให้ไม่เกินสามหัวข้อย่อย เพราะมากไป ผู้ฟังจะรู้สึกซับซ้อนเกินไป และจำยาก
ขั้นตอนที่ 4 เปิดการนำเสนอ ให้น่าติดตาม
การทักทายด้วยภาษาของผู้ฟังเป็นการสร้างมิตรสัมพันธ์ที่ดี นอกจากนี้การเรียบเรียงคำพูดช่วงต้นให้ผู้ฟังเห็นว่า เนื้อหาของคุณจะพาเขาจากสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไปสู่สิ่งที่แตกต่างในตอนจบ จะช่วยให้ผู้ฟังอยากติดตามเหมือนภาพยนตร์ ที่คนดูอยากรู้อยากเห็นว่าจะจบอย่างไร
ขั้นตอนที่ 5 ป้อนสีสันของข้อมูลสนับสนุนให้จดจำได้ง่าย
ถึงแม้การนำเสนอจะเป็นทางการ คุณยังใส่สีสันในการใช้ภาษาของคุณได้ เพื่อสร้างการค้นหา เทคนิคเช่น
- เล่าเรื่องราว/เปรียบเปรย
- บอกสถิติที่ทำให้ประหลาดใจ
- ใช้ภาพที่มีชีวิตชีวาประกอบ
- สาธิตให้ดู
- ใช้การเปรียบเทียบมุมมองที่ตรงกันข้าม
ขั้นตอนที่ 6 ปิดอย่างประทับใจ
ปิดท้ายด้วยการสรุปหัวข้อใหญ่ หัวข้อย่อยและเอ่ยอีกครั้งอย่างชัดเจนว่า ผู้ฟังจะได้รับสิ่งที่ดีขึ้นหรือแตกต่างอย่างไรจากสินค้าและบริการของเรา ระบุให้เห็นว่าภาพแห่งความสำเร็จของเขาเป็นอย่างไรและแนะนำให้เขาลงมือทำอะไรเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
AcComm Group – www.aclc-asia.com