Official website, please click:
www.aclc-asia.com
ข้อมูลหลักสูตร Coaching:
https://www.aclc-asia.com/coaching
โดย ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ (PCC) โค้ชผู้บริหารที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ
กรรมการผู้จัดการ บริษัทแอคคอมแอนด์อิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
บทความสมรรถนะของโค้ช
กระบวนการโค้ช เริ่มต้นที่เข้าใจก่อนว่า สมรรถนะของโค้ชที่ดีเป็นอย่างไร
สมรรถนะของโค้ชที่ดี เมื่อศึกษาจากแหล่งข้อมูลหรือสถาบันต่างๆ หรือโค้ชที่มีประสบการณ์ พบว่าสมรรถนะของโค้ชที่ดีมีความคล้ายคลึงกัน ดิฉันขออิงจากสมรรถนะของสมาพันธ์ของโค้ชนานาชาติ และเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ขออธิบายสรุปดังนี้ โค้ชควรมีสมรรถนะแบ่งออกเป็นสี่กลุ่ม โดยมีข้อย่อยๆเป็นองค์ประกอบดังนี้:
สามารถสร้างพื้นฐานความเข้าใจให้ตรงกัน (Foundation)
- อธิบายคำจำกัดความและกระบวนการของการโค้ชได้ชัดเจน และปฏิบัติตามหลักการและจริยธรรมของโค้ช ตัวอย่างเช่น ไม่เป็นฝ่ายบังคับหรือยื่นคำแนะนำให้โค้ชชี่ทำในสิ่งที่มาจากความคิดและเหตุผลของโค้ชเอง ไม่มีสมองของมนุษย์สองคนใดในโลกนี้ ที่เหมือนกัน ดังนั้นการนำความคิดและเหตุผลของโค้ชไปใส่หัวโค้ชชี่ อาจไม่ได้เป็นการช่วยให้โค้ชชี่เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างใด ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญต่างคนและต่างสถาบันอาจมีคำจำกัดความแตกต่างกันไป ไม่ควรไประบุว่าของใครถูก ของใครผิด
- คุยกับโค้ชชี่ ให้เข้าใจตรงกันก่อน ว่าบทบาทหน้าที่ของทั้งคู่คืออะไร และกระบวนการการโค้ชเป็นอย่างไร เปรียบเหมือนการเดินทางไกลร่วมกัน ควรตกลงกันก่อนว่า ใครทำหน้าที่อะไร เราจะแวะตรงไหนระหว่างทาง เราต้องใช้อะไรระหว่างการเดินทางบ้าง
พัฒนามิตรสัมพันธ์และการเป็นคู่คิดที่ดี (Partnership)
- ในกระบวนการโค้ช เมื่อมาพบกัน โค้ชวางตัวเป็นที่น่าไว้วางใจ สร้างศรัทธา มีมนุษยสัมพันธ์ รู้ว่าอะไรควรพูดและไม่ควรพูด ไม่พูดในสิ่งที่จะทำลายความเชื่อมั่น เช่นการกล่าวถึงบุคคลที่สามในทางลบ อาจทำให้โค้ชชี่กลัว บรรยากาศการสื่อสารที่ดีควรปลอดภัย นำไปสู่การเปิดใจและการพูดคุยที่ตรงไปตรงมา
- โค้ชสามารถโฟกัสหรือมุ่งความสนใจไปที่ความคิดและการพัฒนาของโค้ชชี่ ไม่ใช่มัวแต่ห่วงกังวลผลงานการโค้ชของตนเอง ควรยืดหยุ่นตามเส้นทางของโค้ชชี่ได้ โดยไม่ยึดติดกับเส้นทางของตนเอง
เชื่อในและใช้วิธีการสื่อสารแบบโค้ช (Coach’s Communication)
- การฟัง เป็นผู้ฟังที่ใส่ใจและพยามยามทำความเข้าใจ ทั้งสิ่งที่โค้ชชี่พูดออกมาและไม่ได้พูดออกมา ฟังเชิงลึกเพื่อรับรู้ค่านิยม ความเชื่อต่างๆ แต่เป็นการรับฟังโดยปราศจากอคติ เงื่อนไข หรือการสรุปตัดสินใดๆ รวมทั้งเมื่อฟังแล้วสามารถนำสิ่งที่ได้ฟังจากโค้ชชี่มาสะท้อนกลับให้โค้ชชี่ฟังโดยเลือกใช้ประโยคและคำพูดสะท้อนกลับไปอย่างชัดเจน และไม่ควรผสมคำแนะนำใดๆลงไป หากทำได้ จะช่วยให้โค้ชชี่ทบทวนหรือเข้าใจความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆได้ด้วยตนเอง เกิดการประจักษ์รู้และเข้าใจสถานการณ์ตนเองดียิ่งขึ้น ความชัดเจนมักนำไปสู่ความกระตือรือร้นและการหาหนทางออกที่ดีสำหรับตนเองได้ดีขึ้น
- การถาม การถามคำถามที่ดี จะมาจากข้อที่แล้วคือการฟังที่ดีก่อน คำถามจึงจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของโค้ชชี่ การถามควรเน้นไปที่อนาคต เน้นการค้นพบหนทางที่แตกต่าง กระตุ้นความมุ่งมั่น คำถามอาจท้าทายสมมุติฐานของโค้ชชี่ได้ เพื่อกระตุ้นความคิด
- การพูด การพูดของโค้ชจะกระชับ ชัดเจน อย่างเช่น การกล่าวถึงวัตถุประสงค์ กำหนดการ หรือถ้ามีแบบฝึกหัด การฝึกปฏิบัติ วิธีการหรือขั้นตอนเป็นอย่างไร
โค้ชอาจใช้เรื่องราวเล่าขาน หรืออุปมาอุปไมย หากเห็นว่าข้อมูลนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของโค้ชชี่ คำพูดของโค้ชจะให้เกียรติโค้ชชี่และเน้นเชิงบวกเสมอ ดังนั้นเมื่อโค้ชชี่ติดอยู่ในกรอบที่ไม่สร้างสรรค์ ขึ้นจากหลุมพรางนั้นด้วยตนเองไม่ได้ โค้ชสามารถใช้คำพูดปรับกรอบความคิด (Reframe) ของโค้ชชี่ เพื่อกระตุ้นการก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเชี่ยวชาญ
กระบวนการการเรียนรู้ ไปสู่ผลลัพธ์ (Plan, Progress, and Results)
- ช่วยให้โค้ชชี่ค้นพบ หรือตระหนักในข้อที่เคยมองข้ามบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น บางครั้งการอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมานาน ทำให้คนเราเข้าใจหรือมองเห็นสิ่งต่างๆเกี่ยวกับตนเองหรือรอบๆตัวจากสิ่งที่ตนเองเห็น ไม่ใช่จากสิ่งที่มันเป็น ดังนั้นหากโค้ชรีบด่วนสรุปว่าสิ่งที่โค้ชชี่พูดออกมาเบื้องต้นคือความหมายทั้งหมดแล้ว การเรียนรู้อาจไม่เกิดคุณค่าต่อโค้ชชี่อย่างแท้จริง โค้ชช่วยให้โค้ชชี่ตะหนักในจุดแข็งตนเอง ช่องว่างที่อาจต้องการการพัฒนา โค้ชช่วยให้โค้ชชี่ตระหนักได้ว่า ความแตกต่างของเรื่องที่ “ไม่สลักสำคัญนัก” กับ “สำคัญยิ่ง” ความแตกต่างระหว่าง “เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว” กับ “เกิดขึ้นเสมอ ซ้ำๆ” ความแตกต่างระหว่าง “การพูดเฉยๆ” กับ “การลงมือทำ”
- สามารถพัฒนาและดำเนินการตามแผนการโค้ช โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน วัดผลได้ เป็นไปได้ สามารถระบุให้โค้ชชี่เห็นได้ถึงความสำเร็จระหว่างทางที่เกิดขึ้น ยืดหยุ่นหากต้องปรับแผนให้สอดคล้องกับสไตล์การเรียนรู้และสถานการณ์ของโค้ชชี่ ช่วยให้โค้ชชี่เข้าถึงแหล่งข้อมูล ความรู้ การฝึกปฏิบัติที่เป็นประโยชน์
- ช่วยโค้ชชี่สำรวจ ระดมสมองในกิจกรรม การลงมือปฏิบัติ ทางเลือกต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาไปสู่ผลลัพธ์ที่เขาต้องการ สนับสนุนการเรียนรู้นอกเหนือจากเวลาที่ได้พบโค้ช สนับสนุนการขยับขีดความสามารถของตนเองในบรรยากาศเป็นมิตร สนับสนุนการลงมือทำทันที
- ตรึงความสนใจ ใส่ใจของโค้ชชี่ในเป้าหมายและสิ่งที่สำคัญต่อเขา โดยให้โค้ชชี่รับผิดชอบ ในการลงมือทำตามแผนและกรอบเวลาที่กำหนดไว้ ในความคืบหน้าและการพัฒนาของตน และในการบรรลุผลลัพธ์ที่ตั้งไว้ โค้ชสามารถถามคำถามเพื่อติดตามการลงมือปฏิบัติที่ได้รับปากไว้ในครั้งก่อน กล่าวชื่นชมในสิ่งที่เขาลงมือทำหรือมีความคืบหน้า และชงคำถามเชิงบวกกระตุ้นวินัยหากเขาไม่ได้ทำตามที่ตกลงกัน
โค้ชช่วยทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ กระบวนการโค้ช ช่วยโค้ชชี่ พัฒนาความคิด ศักยภาพในการตัดสินใจ การรุดหน้าพัฒนาตนผ่านการได้รับ feedback และแสวงหาประสบการณ์การเรียนรู้ การปฏิบัติเช่นนี้ได้ โค้ชจึงจำเป็นต้องจัดระเบียบข้อมูลความ คืบหน้าของโค้ชอย่างมีแบบแผน เพื่อให้สามารถทบทวนและกล่าวถึงความต่อเนื่องของการโค้ชแต่ละครั้งได้เสมอ
(C) Copyright – All rights reserved.